บทความการกู้ยืมเงิน

Home / Page name

คดีกู้ยืม ทำคดี กฎหมาย tumkadee me8fu mokp ทนาย ทนายความ

การกู้ยืมเงิน

มาตรา 653  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

          ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

ความหมายของการกู้ยืมเงิน

              การยืม เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคู่กรณีเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ยืม” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ยืม”
               สัญญายืมนั้น เป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมเพื่อใช้สอยทรัพย์สินนั้นและผู้ยืมก็ตกลงว่าจะส่งคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
            

 ประเภทของสัญญายืม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

 1.สัญญายืมใช้คงรูป

 2.สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งการกู้ยืมเงินนั้นจัดอยู่ในประเภทของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
              สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาที่ผู้ให้ยืมได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น และสัญญายืมนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม
               ดังนั้น การกู้ยืมเงินหรือสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ที่ “ผู้กู้ยืม” ไปขอกู้ยืมเงินจากบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้ยืม” โดยผู้กู้ยืมสัญญาหรือตกลงว่าจะใช้เงินคืนให้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินนี้จะมีการกำหนดดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วยหรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว

หลักฐานการกู้ยืมเงิน

แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
1) กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ดังนั้น แม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย
2) กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้
           หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใดและตกลงจะใช้คืนเมื่อใด และที่สำคัญคือต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญด้วย
ดังนั้น เนื้อความในเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงิน ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้

1) วันที่ที่ทำสัญญากู้เงิน  

2) ชื่อ ผู้ขอกู้เงินและผู้ให้กู้เงิน  

3) จำนวนเงินที่กู้  

4) กำหนดชำระ (จะมีหรือไม่มีก็ได้)

5) ดอกเบี้ย (ไม่เกิน 15% ต่อปี) เเต่ถ้าไม่ได้กำหนดเอาไว้กฎหมายเเพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 7 ได้ใช้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

6) ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ (กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายนิ้วมือ 2 คน)

ดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน
          ในการกู้ยืมเงินกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน กฎหมายได้กำหนดจำกัดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินไว้คือ ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี (คืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) ยกเว้นกรณีเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดของธนาคารซึ่งมีกฎหมายรองรับ(พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)

กรณีกำหนดดอกเบี้ยไว้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีผลคือ
1) เป็นความผิดอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475
2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด ฟ้องบังคับไม่ได้เลย (แต่เงินต้นยังคงสมบูรณ์)
3) ดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมชำระไปแล้ว เรียกคืนไม่ได้ (ถือว่าชำระหนี้ตามอำเภอใจ)
แม้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะตกเป็นโมฆะ แต่สำหรับดอกเบี้ยผิดนัด ผู้ให้กู้ยืมก็ยังคงบังคับได้

อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน
            การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน มีอายุความ 10 ปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน แต่หากสัญญากู้ยืมตกลงกันกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ เช่น รวมทั้งหมด 5 งวด จะเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ซึ่งจะมีอายุความเพียง 5 ปี


ข้อแนะนำและข้อควรระวังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน
1) ห้ามลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเด็ดขาด
2) ก่อนลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ต้องตรวจสอบจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาให้ถูกต้องและครบถ้วนตามจำนวนเงินที่ได้รับไป และในสัญญาต้องเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยเสมอ เช่น กู้ยืมเงินไปจำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)
3) อย่านำโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับการทำประโยชน์ในที่ดิน(น.ส.3)ไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน
4) สัญญาต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยให้ผู้กู้ยืมถือไว้ด้วย 1 ฉบับ
5) ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ยืมลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วยอย่างน้อย 1 คน
6) การชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขอรับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงินซึ่งมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมลงกำกับด้วยทุกครั้ง (เพื่อไว้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ชำระหนี้แล้ว)
7) เมื่อชำระหนี้ทั้งหมดต้องขอสัญญากู้คืนจากผู้ให้กู้ยืมด้วย

วิธีทำสัญญากู้เงิน  อย่างไรก็ตาม เพื่อลดความเสียงของการไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้ควรหาหลักประกันดังนี้ (อันนี้สำคัญมากนะครับ)
- ประกันด้วยตัวบุคคล คือ มีผู้ค้ำประกัน การค้ำประกันคือการที่คนอื่นที่ไม่ใช่ผู้กู้ยอมเอาตนเข้าประกันหนี้เงินกู้ หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะยอมชำระหนี้แทน ผู้ให้กู้ก็สามารถเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ การทำสัญญาค้ำประกันนั้นก็ง่ายๆ แค่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันไว้ก็เพียงพอ
- ประกันด้วยทรัพย์ คือ จำนอง คือการประกันด้วยทรัพย์สินไม่ว่าทรัพย์สินของผู้จำนองหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ก็สามารถนำทรัพย์จำนองนั้นไปขายทอดตลาดเพื่อบังคับจำนองเอาเงินมาชำระหนี้กู้ยืมเงินได้ สำหรับสัญญาจำนองนั้นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
- เมื่อครบกำหนดคืนเงินแล้วผู้กู้ไม่ยอมคืนเงินจะทำอย่างไร

           เมื่อผู้กู้ไม่ยอมคืนเงินตามที่กำหนดไว้ผู้ให้กู้สามารถทวงถามได้โดยการบอกกล่าวทวงถาม (โดยทำเป็นหนังสือบอกกล่าวทวงถาม หรือตามภาษาที่ทนายเรียกกันติดปากว่า โนติส (Notice)) ให้ผู้กู้คืนเงินโดยการทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ผู้กู้คืนเงิน เช่น ระยะเวลา 15วัน , 30 วัน หรือ 1 เดือน หากผู้กู้ไม่ยอมคืนย่อมถือว่าผิดนัดสามารถฟ้องคดีต่อเพื่อให้ศาลบังคับตามสัญญาต่อไป

การกู้ยืมเงินผ่านแชท
"แชต" สามารถใช้เป็นหลักฐานในการยืมเงินได้ ส่วนการจัดการเงินด้านอื่น ๆ จะสามารถใช้แชตเป็นหลักฐานในการฟ้องได้หรือไม่ คงต้องรอการตีความกันต่อไป อย่างไรก็ตาม แชตเป็นการแสดงตัวตนและเจตนาอีกช่องทางหนึ่ง จึงควรให้ความสำคัญในการแสดงความเห็นหรือส่งข้อความ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
การแชตยืมเงินกัน สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้ โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับการยืมเงินกันเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กล่าวถึง "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น"
แชทจะเป็นหลักฐานอย่างไร
          จากข้อความดังกล่าวถูกตีความว่า แชตที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
         1. ข้อความแชต (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน
         2. บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน(Account)ในแชตจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงินและเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้
         3. หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุวันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ


ข้อควรระวังการแชตเกี่ยวกับเรื่องเงิน
          การแฮกบัญชีผู้ใช้เพื่อปลอมตัวเป็นเราและนำไปใช้ยืมเงินผู้อื่น จะถือเป็นการยืมเงินด้วยหรือไม่นั้น สิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้ได้คือ ไม่ใช่ตัวตนของเราที่เป็นผู้ส่งข้อความแชตเพื่อยืมเงิน ดังนั้น การเข้าถึงระบบแชตในแอปพลิเคชันต่าง ๆ จึงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เช่น รหัสผ่าน (Password) ควรเปลี่ยนบ่อย ๆ ไม่ควรให้ระบบจำรหัสผ่าน (Password) หรือใส่รหัสผ่าน (Password) เองทุกครั้งที่เข้าระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับตัวเราเอง สิ่งที่ควรทำ คือ ควรเก็บข้อมูลบัญชีผู้ใช้ และรหัสผ่านต่าง ๆ ไว้เป็นเรื่องเฉพาะตัว

แชทเรื่องเงิน ที่อาจจะใช้เป็นหลักฐานได้

          ถ้าการขอยืมเงินผ่านแชต ถูกตีความว่าเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานได้ การแชตเกี่ยวกับเรื่องเงินเหล่านี้ก็อาจถูกใช้เป็นหลักฐานได้ ยกตัวอย่างเช่น
          1. การปลดหนี้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวถึง การปลดหนี้ ว่า "การปลดหนี้ให้เพียงมีหนังสือเป็นหลักฐานถือเป็นการยกหนี้ให้" ถ้าแชตถือเป็นหนังสือ การแชตว่าจะยกหนี้ให้หรือปลดหนี้ให้ ก็ถือว่าเป็นการปลดหนี้แล้ว ดังนั้น การแชตในทำนองประชดว่า "ถ้าคุณไม่อยากคืน ดิฉันก็ขอยกหนี้ให้ ถือว่าเอาบุญ" ก็มีโอกาสเข้าข่ายว่าปลดหนี้ให้แล้ว
          2. การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป ต้องทำเป็นหนังสือเป็นหลักฐาน จึงนำมาใช้ฟ้องร้องได้ ดังนั้น การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ เช่น แก้ว แหวน เงินทอง หรือซื้อขายของออนไลน์ ไม่ว่าจะมูลค่ากี่บาท หากมีการแชตที่ตกลงซื้อขายแล้ว ก็เข้าข่ายเป็นหนังสือที่ใช้เป็นหลักฐาน หากไม่ทำตามข้อตกลง จึงนำมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องกันได้ต่อไป
          3. พินัยกรรม (แบบธรรมดา) เป็นการแชตและส่งในห้องที่มีบุคคลอื่นอย่างน้อย 2 คน เพื่อเป็นพยาน ก็อาจเข้าข่ายใช้เป็นหลักฐานแสดงความประสงค์ว่าจะให้จัดการทรัพย์สินของเจ้ามรดกหลังเสียชีวิตอย่างไรบ้าง

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ


Project Image
บทความคดีแชร์

 การเล่นแชร์ คือ สัญญาชนิดหนึ่ง มีคู่ความ 2 ฝ่าย คือ นายวงแชร์ ฝ่ายหนึ่ง กับลูกวงแชร์ อีกฝ่ายหนึ่ง ปกตินายวงแชร์จะเป็นบุคคลเดียว ส่วนลูกวงแชร์จะมีหลายคน

 


Project Image
บทความคดีแรงงาน

ในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือเรื่องของพนักงาน หรือแรงงาน ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องดูแลพนักงานเหล่านี้ตามสิทธิที่ควรจะได้รับตลอดการทำงาน