คดีความหมิ่นประมาท

 

Home / Page name

หมิ่นประมาท

คดีหมิ่นประมาท

ความผิดฐาน หมิ่นประมาท เป็นความผิดในทางอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยถูกบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ใจความว่า
       “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ตามข้อกฎหมายข้างต้น โดยหลักแล้ว บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด มีกฎหมายกำหนดโทษไว้ และการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิด กล่าวคือ ครบเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้แก่
 1) ผู้ใส่ความ:ผู้กระทำ(ผู้กระทำการหมิ่นประมาท)
 2) มีการใส่ความ:การกระทำ(การหมิ่นประมาท)
3) ผู้อื่น:กรรมของการกระทำ(ผู้ถูกใส่ความ)
 4) ต่อบุคคลที่สาม (เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เข้าตามมาตรานี้
 5) โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นได้รับความเสียหาย
 คำว่า “ผู้ใด” ในมาตรานี้ หมายถึงบุคคล ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลก็ได้ ดังนั้น แม้เป็นกรณีที่บริษัทหมิ่นประมาทบุคคลอื่น บริษัทก็อาจมีความผิดทางอาญาได้ เช่นเดียวกันกับผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นผู้เสียหายก็อาจจะเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และโดยคำว่า “ผู้อื่น” ในที่นี้ แม้ผู้กระทำความผิดจะไม่ได้ระบุชื่อ เพียงแต่ทราบได้ว่าหมายถึงใครก็เป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณา คือ การใส่ความนั้นต้องทำให้ผู้ฟังคาดคะเนได้ว่าหมายถึงใคร เพราะความผิดฐานหมิ่นประมาทจะสำเร็จก็ต่อเมื่อบุคคลที่สามได้ทราบข้อความและเข้าใจข้อความนั้นด้วย ดังนั้น หากเป็นการใส่ความผู้อื่นกับบุคคลที่สามเป็นชาวต่างชาติ ไม่เข้าใจภาษาไทย หรือ กรณีเป็นคนหูหนวก ถือว่าผู้กระทำกระทำครบองค์ประกอบความผิดแล้ว แต่ไม่สำเร็จ จึงมีความผิดฐานพยายามหมิ่นประมาทเท่านั้น
 
การเรียกค่าเสียหายในกรณีหมิ่นประมาท
กระบวนการขั้นตอนในการเรียกค่าเสียหายกรณีหมิ่นประมาท ซึ่ง มี 3 วิธีการฟ้อง โดยแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันดังนี้
1. ฟ้องเป็นคดีอาญา (โดยไม่ได้เรียกค่าเสียหายเข้าไปในคดีและไม่ได้ฟ้องคดีแพ่งต่างหาก) วิธีแรกนี้มักจะพบบ่อยเพราะไม่ยุ่งยาก กล่าวคือ ยื่นคำฟ้องในคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาเท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลาและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีแพ่งต่างหาก และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในคดีอาญา ส่วนวิธีการเรียกค่าเสียหายนั้น โจทก์หรือผู้เสียหายจะใช้วิธีนำยอดเงินที่ตนต้องการไปเจรจากับจำเลยในชั้นศาลไม่ว่าในวันนัดไกล่เกลี่ยวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือการไกล่เกลี่ยไต่สวนมูลฟ้องก็ดี โดยหากตกลงกันได้ ได้ยอดค่าเสียหายที่พึงพอใจเมื่อจำเลยชำระค่าเสียหายแล้วโจทก์ก็ทำการถอนฟ้อง วิธีนี้สะดวกรวดเร็วไม่เสียค่าธรรมเนียม ถ้าหากจำเลยต่อสู้คดีโจทก์จะยังไม่มีสิทธิ์ได้ค่าเสียหายนอกจากไปยื่นฟ้องคดีแพ่งเพิ่มเติม
2.  ฟ้องคดีอาญาควบคู่คดีแพ่ง กรณีต่อมาต่อยอดจากวิธีที่ 1 คือ นอกจากโจทก์หรือผู้เสียหายจะยื่นฟ้องคดีอาญาแล้ว ยังยื่นฟ้องคดีแพ่ง(ละเมิด) เรียกค่าเสียหายจากจำเลย 2 ทาง โดยในคดีอาญาเป็นมาตรการบังคับกับเนื้อตัวร่างกายคือโทษจำคุกหรือปรับ แต่ส่วนของค่าเสียหายอันเป็นตัวเงินนั้นโจทก์แยกไปฟ้องเป็นคดีแพ่งต่างหาก โดยโจทก์มีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ความเสียหายต่อศาล ส่วนมากคดีแพ่งที่ฟ้องไปนั้น จะรอฟังผลในคดีอาญาว่าการกระทำของจำเลยเป็น ความผิดหรือไม่ หากการกระทำของจำเลยในคดีอาญาเป็นความผิดในส่วนของคดีแพ่งก็พิสูจน์กันเฉพาะเรื่องของค่าเสียหาย โดยในการฟ้องแบบนี้จะมีประสิทธิ์ภาพมากที่สุดเพียงแต่ฝ่ายโจทก์จะต้องยื่นฟ้องคดีถึง 2 คดี จะต้องสละเวลาในการมาศาลถึง 2 คดีและในส่วนของคดีแพ่งจะต้องเสียค่าดำเนินการรวมถึงค่าธรรมเนียมศาลด้วย
3. ยื่นฟ้องคดีอาญาโดยเรียกค่าเสียหายทางแพ่งไปในคดีอาญาเลย การดำเนินการรูปแบบนี้เป็นวิธีที่สามารถเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้เช่นเดียวกับวิธีที่ 2 แต่รวบการพิจารณาคดีให้เหลือในคดีเดียว โดยการเสียค่าธรรมเนียมศาลนั้นเช่นเดียวกับคดีแพ่งเพียงเพียงแต่ไม่ต้องไปแยกฟ้องและไม่ต้องไปศาลถึง 2 คดี มีความสะดวกกว่าแต่มีข้อสังเกตกล่าวคือ ในการพิสูจน์ค่าเสียหายนั้น ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าอาจพิสูจน์ยากกว่าหรืออาจจะได้น้อยกว่าวิธีการฟ้องแยกแบบวิธีที่ 2 

คดีหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต กับ บทลงโทษที่โลกโซเชียล
       
        คดีหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต ที่มีลักษณะการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทะเลาะกันด้วยสาเหตุต่างๆ แล้วโพสต์ข้อความใส่ร้ายหรือประจานคู่กรณี, เรื่องชู้สาว หรือทำการตัดต่อภาพเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจผิด หากบุคคลที่ได้รับความเสียหายเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง ดารา นักร้อง นักธุรกิจ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทางสังคม ก็จะได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เมื่อการหมิ่นประมาทกระทำโดยเครื่องมือสื่อสารสังคมออนไลน์ดังกล่าว ความเสียหายจึงกระจายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการกระทำผิดโดยการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคมแห่งการออนไลน์ 
           ถ้าจะกล่าวถึงคดีอาญาเกี่ยวกับการโพสต์ประจานในทางโซเซียลมีเดียนั้น แต่เดิมกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง    กรณีนี้ความเสียหายไม่มากมายนักเพราะมีเพียงแค่บุคคลที่สามที่รับทราบ (จำนวนผู้รับรู้การใส่ความไม่มาก) กฎหมายจึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
           แต่ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพหรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น  ** กรณีนี้ความเสียหายกระจายไปตามการโฆษณา (จำนวนผู้รับรู้การใส่ความมีมากขึ้น หรือโอกาสของบุคคลที่รับรู้การใส่ความจะเพิ่มมากขึ้น) กฎหมายจึงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท
            ซึ่งการใส่ความที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น หมายถึง “การยืนยันข้อเท็จจริง” หรือ“กล่าวยืนยันความจริง” หรือ “ความเท็จ” หรือ “เอาเรื่องไม่จริงไปแต่งความใส่ร้าย” หรือ “เอาเรื่องจริงไปกล่าว” ก็เป็นความผิด เรียกได้ว่า “ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท” หรือแม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาไปพูดให้บุคคลอื่นฟังก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ และต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นคำหยาบ หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คลุมเครือ หรือเลื่อนลอยหรือกล่าวด้วยความน้อยใจ และข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีตหรือปัจจุบันไม่ใช่เพียงการคาดคะเนหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต           
        แต่กรณีแสดงความคิดเห็นบางอย่างแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นในอนาคต แต่หากฟังแล้วทำให้เข้าใจว่าในปัจจุบันเป็นเช่นไร ก็ย่อมเป็นการหมิ่นประมาทได้ ต่อเมื่อสังคมเจริญขึ้น เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร หรือเป็นสังคมแห่งการออนไลน์ที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่ทันสมัยเชื่อมต่อสัญญาณด้วยอินเทอร์เน็ต และมีโปรแกรมเครื่องมือสื่อสารเป็นของตนเอง เช่น เฟซบุ๊ก หรือโปรแกรมไลน์ โดยอยู่ที่ไหนก็ออนไลน์ได้ ไม่ต้องเห็นหน้าตากัน หรือรู้จักกันมาก่อนก็หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นกันได้ง่ายขึ้น ด่าทอกันง่ายขึ้น เป็นที่มาของ “คดีเกี่ยวกับการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย” ที่มีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่อง    
       รัฐจึงต้องตรากฎหมายขึ้นมาควบคุมเพื่อให้ทันกับยุคสมัย ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย หรือการกดแชร์ส่งต่อข้อความอันเป็นความผิดด้วย คือ     
       มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กราฟิกประกอบ)      
       มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
       กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติอัตราโทษจำคุกและโทษปรับให้หนักขึ้นมากกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดาหรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทั้งนี้ก็เพราะการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้างนั่นเอง

วิธีจัดการทั้งคนหมิ่นและคนโดนประจาน
      คนที่ถูกโพสต์หมิ่น หรือเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการโพสต์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือเก็บรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิดให้ได้มากที่สุด ไม่ควรด่าหรือโพสต์ประจานโต้ตอบ แต่ให้อธิบายชี้แจงความจริงเพื่อรักษาชื่อเสียงเบื้องต้นเท่านั้น จากนั้นก็นำพยานหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

        สำหรับผู้ที่กระทำผิดโพสต์ประจานผู้อื่น หากเป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาท และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 16 ซึ่งเป็นความผิดที่สามารถเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ก็ควรสำนึกผิดและขอโทษผู้เสียหายโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขการเจรจาให้ครบถ้วน ผู้เสียหายก็อาจถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องได้
       แต่ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 มาตรา 14 เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้ คือไม่สามารถถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องได้ แต่ก็ยังมีทางออกด้วยการสำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายจากการกระทำ ศาลย่อมเมตตาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษไว้ก่อนเพื่อให้โอกาสไม่ต้องถูกจองจำ แต่หากต่อสู้คดีก็อาจได้รับโทษจำคุกสูงกว่าการรับสารภาพ     
       ดังนั้นก่อนที่จะโพสต์ข้อความใดๆ ที่มีลักษณะพาดพิงหรือเป็นการใส่ความบุคคลอื่นไม่ว่าเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งขึ้นมาใส่ร้ายป้ายสีกันลงในโซเชียลมีเดีย โดยมีเจตนาไม่สุจริต จึงควร “ตั้งสติคิดให้รอบคอบ”ก่อนโพสต์หรือก่อนกดแชร์ส่งต่อ นั่นเพราะบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการโพสต์หรือกดแชร์อาจแจ้งความกล่าวหาหรือฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเพื่อให้ได้รับการจำคุก เป็นเหตุให้ต้องมีประวัติกระทำผิดอาญา “บางคนถึงกับต้องสูญเสียโอกาสในการทำงาน” เพราะมีประวัติกระทำผิดอาญาดังกล่าว
        นอกจากนี้ “ผู้เสียหาย” ก็ยังมีสิทธิ์ฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายทางแพ่งอีกด้วย หากผู้เสียหายมีชื่อเสียงหรือเกียรติคุณทางสังคมสูง ค่าเสียหายก็จะสูงตามไปด้วย ฉะนั้น อย่าคิดโพสต์แค่เพียงความสะใจ เพราะอาจจะเสียใจภายหลังก็ได้ครับ

การหมิ่นประมาทกันทาง facebook หรือ อินเตอร์เน็ต

      การหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต เพื่อง่ายแก่การทำความเข้าใจผมขอยกตัวอย่าง เช่น นาย ดำ ไม่พอใจนางสาว แดง จึงเขียนข้อความบนเว็บไซท์ว่า นางสาว แดง ขายบริการทางเพศโดยระบุชื่อที่อยู่ของนางสาว แดง หรือใส่ความอย่างอื่นจนนางสาว แดงเกิดความเสียหาย
     กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326 และ 328 ซึ่งระบุว่า
 มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด แผ่นเสียง หรือสิ่งบนทึกเสียงอย่างอื่น กระทำโดยการกระจายเสียง หรือโดยการกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      จากหลักกฎหมายดังกล่าวการที่นาย ดำ เขียนข้อความที่หมิ่นประมาทนางสาว แดง ผ่านทางอินเตอร์เน็ต หากข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อนางสาว แดง นาย ดำ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 แม้ว่านาย ดำ นั้นจะมิได้อยู่ในประเทศไทยก็ตาม เพราะการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายไทย นาย ดำ จึงก็ต้องรับโทษตามกฎหมายไทย การที่นาย ดำ มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศนั้นไม่ได้เป็นเหตุให้ นาย ดำ ได้รับยกเว้นโทษแต่ประการใด

       อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เขียนข้อความหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ตนั้น มักจะชะล่าใจว่าตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตามตัวบุคคลดังกล่าวเพื่อดำเนินคดีในทางอาญาได้ ผมขอเรียนว่า ในทางเทคนิคนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า ผู้ที่เขียนข้อความหมิ่นประมาทดังกล่าวเป็นใครโดยร่วมมือกับเว็บไซท์ที่ให้บริการจัดให้มีการสนทนา โดยตรวจสอบหมายเลขที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (IP Address) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่นาย ดำ ใช้ในการสนทนาหรือ ปิดประกาศข้อความที่หมิ่นประมาทบนอินเตอร์เน็ต เนื่องจากการติดต่อสื่อสารบนอินเตอร์เน็ตนั้นต้องกระทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องซึ่งจะมีหมายเลขรหัสประจำเครื่องที่ไม่ซ้ำกัน นอกจากนี้ผู้ใช้บริการโดยส่วนใหญ่มักจะต้องเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ของตนกับผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตหรือ ISP - Internet Service Provider หรือร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ที่ท่านเข้าไปใช้บริการ ซึ่งจะบันทึกข้อมูลการใช้บริการทุกครั้งไว้ ดังนั้น การตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดจึงสามารถทำได้


 

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ


Project Image
บทความ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือพระราชบัญญัติที่ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นพ.ร.บ.ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกัน ควบคุมการกระทำผิดที่จะเกิดขึ้นได้จากการใช้คอมพิวเตอร์

 


Project Image
บทความคดีฉ้อโกง

หลักสำคัญของการฉ้อโกง คือ ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาทุจริต โดยการหลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ควรจะแจ้ง มาตั้งแต่แรก