บทความคดีเช็ค
Home / Page name
คดีเช็ค
เช็ค คืออะไร
ตามประมาลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 21 หมวด 4 เช็ค มาตร 987 ได้ให้คำจำกัดความของเช็คไว้ว่า
เช็คคือ ตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งให้ธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอันเรียกว่า ผู้รับเงิน โดยเช็คเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบริหารเงินสดครับ เราสามารถจำแนกคู่สัญญาออกได้ดังนี้
1. ผู้สั่งจ่ายเช็ค (Drawer) คือเจ้าของบัญชีกระแสรายวันที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคาร ผู้เขียนสั่งจ่ายหรือออกเช็ค
2. ธนาคาร(Banker) คือธนาคารผู้รับฝากเงินประเภทกระแสรายวันที่ผู้สั่งจ่ายเช็คเปิดบัญชีไว้
3. ผู้รับเงิน(Payee) คือผู้มีสิทธิที่จะขึ้นเงินตามเช็คนั้นในฐานะผู้ทรง(Holder) ทั้งนี้ผู้ทรงอาจมีฐานะเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามที่ปรากฎในเช็คนั้น หรืออาจเป็นผู้รับเงินในฐานะ ผู้รับสลักหลัง หรือในฐานะผู้ถือได้
เช็คที่ธนาคารต่าง ๆ ในบ้านเราจัดพิมพ์ มีอยู่ 2 แบบ คือ
- เช็คจ่ายผู้ถือ [BEARER CHEQUE]
- เช็คจ่ายตามคำสั่ง [ORDER CHEQUE]
เช็คจ่ายผู้ถือ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เช็คผู้ถือ” คือเช็คที่ทางธนาคารต่าง ๆ ออกแบบไว้เพื่อจุดประสงค์ให้ผู้สั่งจ่ายเช็คโดยระบุชื่อผู้รับเงินหรือจะไม่ระบุชื่อผู้รับเงินก็ได้
ธนาคารในบ้านเราได้ออกแบบเช็คจ่ายผู้ถือ โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่ช่องว่างที่ให้ผู้สั่งจ่ายเช็คกรอกเพื่อระบุผู้รับเงินดังนี้ “จ่าย…………………………………………………….หรือผู้ถือ[or bearer]"
เช็คแบบนี้ผู้สั่งจ่ายจะสั่งจ่ายโดยไม่กรอกอะไรลงในช่องว่าง “จ่าย…………………..หรือผู้ถือ “ เพียงแต่กรอก จำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวหนังสือแล้วลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ก็ถือว่าเช็คสมบูรณ์แล้ว หรือกรอกคำว่า “เงินสด” ลงในช่องว่าง “จ่าย………………………หรือผู้ถือ” ก็มีผลเช่นเดียวกัน
แม้จะกรอกซื่อ นามสกุล ผู้รับเงินลงไปในช่องว่าง “จ่าย……………………หรือผู้ถือ” โดยไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ก็ยังเป็นเช็คผู้ถืออยู่ กรณีนี้หมายความว่า จ่ายให้กับผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในเช็ค หรือ ผู้ถือก็ได้
การสั่งจ่าย “เช็คจ่ายผู้ถือ” โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับเงินในช่องว่าง “ จ่าย…………………………หรือผู้ถือ “ และยังขีดฆ่าคำว่า ”หรือผู้ถือ “ ออก เช็คฉบับนี้จะกลายเป็นเช็ค “จ่ายตามคำสั่ง ” ทันที ถ้านำไปขึ้นเงินก็จะถูกปฏิเสธจากธนาคาร เพราะเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย(ไม่มีชื่อผู้รับเงิน)
หรือเขียนคำว่า “เงินสด” ลงในช่องว่าง “ จ่าย……………………..หรือผู้ถือ “ แล้วขีดฆ่าคำว่า “ หรือผู้ถือ “ ออก เช็คฉบับนี้ก็กลายเป็นเช็ค “ จ่ายตามคำสั่ง “ เช่นกัน แต่เป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามกฏหมาย เพราะว่า คำว่า “เงินสด” ไม่ใช่ชื่อผู้รับเงิน
การจ่ายเงินของธนาคาร
ธนาคารจะจ่ายเงินสดให้แก่ใครก็ได้ที่เป็นผู้ถือ “เช็คจ่ายผู้ถือ “ มาขอขึ้นเงิน
การโอนเปลี่ยนมือ
เช็คจ่ายผู้ถือ สามารถโอนเปลี่ยนมือกันได้เพียงโดยการส่งมอบเช็คให้แก่กันก็เป็นอันใช้ได้ ดังนั้นใครก็ได้ที่เป็นผู้ถือเช็คแบบนี้ไปขึ้นเงินกับธนาคาร ธนาคารก็จะจ่ายเงินสดให้ทันทันที อันนี้มีกฎหมายรับรองนะครับ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 989 วรรคแรกประกอบกับมาตรา 918 ครับ
ป.พ.พ.มาตรา 989 วรรคแรกมีใจความว่า ”ให้ยกบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยตั๋วแลกเงินมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือมาตรา 910 , 914 ถึง 923……”
ป.พ.พ.มาตรา 918 มีใจความว่า “ ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน “
การใช้เช็คแบบนี้จึงมีความเสี่ยงสูง ถ้าเกิดท่านทำเช็คสูญหายหรือเช็คถูกลักถูกขโมยก็จะป้องกันได้ยากมาก จึงควรใช้เช็คแบบนี้ได้เฉพาะในกรณี เมื่อไปเขียนเบิกเงินสดที่ธนาคารเอง หรือเมื่อสั่งจ่ายเงินไม่มากนัก
การใช้เช็คผู้ถือให้ปลอดภัยต้องทำอย่างไร
ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็มีวิธีเดียวครับ คือให้ระบุชื่อ นามสกุลผู้รับเงินลงไปในช่องว่าง “จ่าย………………………..หรือผู้ถือ “ แล้วให้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก ก็จะปลอดภัยครับ แต่การขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก เช็คฉบับนั้นก็จะกลายเป็น”เช็คจ่ายตามคำสั่ง”ทันที การนำเช็คไปขึ้นเงินกับธนาคาร หรือเมื่อต้องการโอนเปลี่ยนมือก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ”เช็คจ่ายตามคำสั่ง” ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
เช็คจ่ายตามคำสั่ง
เช็คจ่ายตามคำสั่ง หมายถึง เช็คที่ต้องระบุชื่อผู้รับเงินไว้ในเช็คให้ถูกต้องครบถ้วน การนำเช็คจ่ายตามคำสั่งที่ยังไม่ระบุชื่อผู้รับเงินไปขอขึ้นเงินกับธนาคาร จะถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจากธนาคารทันที เพราะเป็นเช็คที่มีรายการไม่สมบูรณ์ครบถ้วนตามกฏหมาย ข้อนี้ก็มีกฎหมายรับรองไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 ซึ่งมีใจความอยู่ว่า
“อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
(๒) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
(๓) ชื่อ หรือยี่ห้อสำและนักของธนาคาร
(๔) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(๕) สถานที่ใช้เงิน
(๖) วันและสถานที่ออกเช็ค
(๗) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย “
ธนาคารต่าง ๆ ในเมืองไทย ได้ออกแบบเช็คจ่ายตามคำสั่ง โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่ช่องว่างที่ให้ระบุชื่อผู้รับเงินดังนี้ “ จ่าย……………………………………………………หรือตามคำสั่ง[or order] “
ดังนั้นเวลาจะเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินให้ใคร ต้องเขียนซื่อ นามสกุล ของผู้รับเงิน ลงในช่องว่าง “จ่าย……………………………..หรือตามคำสั่ง “ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ มิฉะนั้นเมื่อนำเช็คไปขอขึ้นเงินจะถูกปฏิเสธการจ่ายเงินจากธนาคาร
สั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับเงินลงในช่องว่าง “ จ่าย……………………………หรือตามคำสั่ง “ โดยปล่อยว่างไว้เฉย ๆ เป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงิน
เขียนชื่อ นามสกุล ผู้รับเงิน ในช่องว่าง “ จ่าย…………………………หรือตามคำสั่ง” แล้วขีดฆ่าคำว่า “หรือตามคำสั่ง “ ออก เพื่อให้เป็นเช็คผู้ถือไม่ได้นะครับ เช็คฉบับนี้ยังคงเป็น “เช็คจ่ายตามคำสั่ง “อยู่ครับ การส่งมอบหรือการเปลี่ยนมือต้องทำตามเงื่อนไขของ “ เช็คจ่ายตามคำสั่ง “
สั่งจ่ายเช็คโดยระบุคำว่า “ เงินสด “ ลงในช่องว่าง “ จ่าย…………………………..หรือตามคำสั่ง “ ของเช็คจ่ายตามคำสั่ง ถือว่าเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะคำว่า “เงินสด” ไม่ใช่ชื่อผู้รับเงิน
สั่งจ่ายเช็คโดยระบุคำว่า “ เงินสด “ ลงในช่องว่าง “ จ่าย…………………………..หรือตามคำสั่ง “ ของเช็คจ่ายตามคำสั่ง แล้วขีดฆ่าคำว่า “ หรือตามคำสั่ง “ ออก ยังคงถือว่าเป็น “เช็คจ่ายตามคำสั่ง “ อยู่ แต่เป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามกฏหมาย ที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะคำว่า “เงินสด” ไม่ใช่ชื่อผู้รับเงิน
การโอนเปลี่ยนมือเช็คจ่ายตามคำสั่ง
การโอนเปลี่ยนมือเช็คจ่ายตามคำสั่ง ทำได้ด้วยการที่ผู้ทรงเช็คสลักหลังแล้วส่งมอบ ซึ่งมีกฎหมายรับรองไว้เหมือนกัน คือ ป.พ.พ. มาตรา 989 ประกอบมาตรา 917 ครับ
มาตรา 989 มีใจความว่า ให้ยกบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยตั๋วแลกเงินมาใช้บังคับในเรื่องเช็ค
มาตรา 917 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการโอนตั๋วเงินที่นำมาใช้บังคับในเรื่องเช็คได้ มีใจความว่า “ อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ “
การสลักหลัง หมายถึง การเขียนข้อความพร้อมกับการลงลายมือชื่อหรือลงลายมือชื่ออย่างเดียวที่ด้านหลังของเช็คเพื่อแสดงถึงการโอนเช็คนั้น
การสลักหลัง มี 2 แบบ คือ
1. สลักหลังเฉพาะ หมายถึง การสลักหลังเช็คโดยระบุชื่อผู้รับโอนไว้ด้วย พร้อมด้วยลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง เช่น นายดำต้องการโอนเช็คให้นายเขียว นายดำจึงสลักหลังว่า โอนให้นายเขียว และลงลายชื่อนายดำ แล้วส่งมอบเช็คนั้นให้นายแดง ก็เป็นอันว่าสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
2. สลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังโดยลงลายมือชื่อผู้สลักเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับโอนไว้ด้วย เช่น ถ้านายดำต้องการโอนเช็คให้นายเขียว นายดำเพียงลงลายมือชื่อที่ด้านหลังเช็คแล้วส่งมอบให้นายเขียวก็เป็นอันสมบูรณ์เช่นกัน
การสลักหลัง ถ้าประสงค์จะโอนเช็คให้เฉพาะตัว ก็สามารถระบุการห้ามสลักหลังต่อไว้ก็ได้ เช่น นายดำต้องการโอนเช็คให้นายเขียวเฉพาะตัว นายดำ ต้องสลักหลังว่า “ โอนให้นายเขียว “ แล้วระบุข้อความในบรรทัดต่อมาว่า “ ห้ามสลักหลังต่อ “ และลงลายมือชื่อนายดำไว้ แล้วส่งมอบให้นายเขียว อย่างนี้ นายเขียว ไม่สามารถสลักหลังโอนให้ใครอีกต่อไป ถ้านายเขียวขืนโอนต่อ นายดำก็พ้นความรับผิดต่อเช็คนั้นกับบุคคลผู้รับโอนต่อจากนายเขียว
การสลักหลังต้องเป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไขได ๆ ถ้ามีไว้ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนไว้เลย เช่น นายเขียวต้องการโอนเช็คให้นายเหลือง นายเชียวเขียนสลักหลังว่า “ โอนให้นายเหลือง” แล้วบรรทัดต่อมา เขียนว่า
“ การสลักหลังนี้จะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อนายเหลืองมีลูกเป็นผู้ชาย” เช่นนี้ถือว่าเงื่อนไขนี้ไม่ได้เขียนไว้เลย
การสลักหลังเช็คเพื่อโอนเป็นบางส่วนเป็นโมฆะตามกฎหมาย เช่น นายเหลืองได้รับโอนเช็คจำนวน 100,000 บาท แล้วนายเหลือง ต้องการโอนเช็คฉบับนี้ให้นายม่วง แต่นายเหลืองสลักหลังว่า “ โอนให้นายม่วง 50,000 บาท และลงชื่อนายขาวแล้วส่งมอบให้นายเหลือง เช่นนี้ นายม่วงไม่สามารถนำเช็คฉบับนี้ไปเรียกรับเงินตามเช็คไม่ได้แม้แต่บาทเดียว เพราะถือว่าเช็คฉบับนี้เป็นโมฆะตามกฎหมาย
หากนายเขียวต้องการโอนเช็คฉบับนี้ต่อให้นายเหลือง นายเขียวก็สลักหลังต่อจากนายดำ ได้เลย
หมายเหตุ การสลักหลังควรลงวันที่สลักหลังไว้ด้วย เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบว่าใครสลักหลังก่อนหลังและมีการสลักหลังติดต่อกันโดยไม่ขาดสาย เมื่อเกิดปัญหาถกเถียงกันจะสามรถทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ
เช็คขีดคร่อมและเช็คไม่ขีดคร่อมมีความหมายว่าอย่างไร
เช็คขีดคร่อม หมายถึง เช็ค ที่เขียนเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ด้านหน้าเช็ค เป็นการแสดงให้ธนาคารรับฝากเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็คเท่านั้น ผู้ทรงเช็คหมดสิทธิ์ที่จะขอเบิกเงินสดจากธนาคาร
ผู้ทรงเช็คขีดคร่อมจึงไม่สามารถนำเช็คมาขอเบิกเงินสดตามเช็คนั้นได้ในทันที จะต้องนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนที่ได้เปิดไว้กับธนาคารแล้วให้ธนาคารผู้รับฝากเป็นผู้ไปเรียกเก็บเงินให้เท่านั้น
เช็คไม่ขีดคร่อม หมายถึง เช็ค ที่ผู้ทรงเช็คสามารถนำมาขอเบิกเงินสดตามเช็คจากธนาคารได้เลย
คิดว่าพอจะทราบความหมายกันแล้วนะครับ เช็คทั้ง 2 ชนิดนี้ นิยมใช้พอ ๆ กัน แต่ถ้าในทางธุรกิจแล้วจะนิยมใช้เช็คขีดคร่อมกันมากกว่า
เช็คไม่ขีดคร่อม ไม่มีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากนัก การใช้เช็คชนิดนี้ให้พิจารณาให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของกฎหมายเรื่องเช็คทั่ว ๆ ไปก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ก็จะขอข้ามไป โดยไม่ขอกล่าวในที่นี้ ส่วนการใช้เช็คขีดคร่อมนั้น นอกจากจะต้องทำให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของกฎหมายเรื่องเช็คทั่ว ๆ ไปแล้วยังจะต้องพิจารณาถึงลักษณะพิเศษของเช็คชนิดนี้ให้ดี ๆ ด้วย
ประเภทของเช็คขีดคร่อม
เช็คขีดคร่อมมี 2 ประเภท คือ
1. เช็คขีดคร่อมทั่วไป หมายถึง เช็คขีดคร่อมที่สามารถนำฝากเข้าบัญชีของธนาคารใดก็ได้ ตัวอย่างการขีดคร่อมทั่วไป เช่น ขีดเส้นขนานตัดในแนวเฉียงบริเวณมุมบนซ้ายของเช็คแล้วเขียนข้อความไว้ด้านในระหว่างเส้นสองเส้นนั้น เช่น เขียนคำว่า
“& co “ หมายความว่า ต้องนำฝากเข้าบัญชีตามชื่อที่ระบุไว้ด้านหน้าเช็คเท่านั้น ถ้าจะนำฝากเข้าบัญชีคนอื่น ต้องมีการลงลายมือชื่อสลักหลังของผู้สลักหลังคนแรก และหรือคนอื่น ๆ ต่อ ๆ กันมา จนถึงลายมือชื่อสลักหลังของผู้ทรงคนสุดท้ายซึ่งสลักหลังโอนให้กับผู้นำฝากเข้าบัญชีธนาคาร
“ ห้ามเปลี่ยนมือ “ หรือ “ Not Negotiable “ หมายความว่า เช็คฉบับนี้ไม่อาจโอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลัง การนำฝากเข้าบัญชีธนาคารต้องนำฝากเข้าบัญชีของผู้มีชื่อระบุไว้ที่ด้านหน้าเช็คเท่านั้น (การขีดคร่อมแบบนี้ห้ามนำไปใช้กับเช็คจ่ายผู้ถือที่ไม่ระบุชื่อผู้รับเงินหรือเช็คจ่ายผู้ถือทีเขียนคำว่า “ เงินสด” ไว้ที่ช่องว่าง “ จ่าย………………หรือผู้ถือ ” ถ้าขีดคร่อมเช็ค "จ่ายผู้ถือ"แบบนี้แล้วนำเช็คไปฝากเข้าบัญชีธนาคาร ธนาคารจะปฏิเสธการรับฝากทันที เพราะไม่มีชื่อตามบัญชีที่ด้านหน้าเช็ค หรือกรณีเขียนระบุ “เงินสด” ธนาคารจะปฏิเสธการรับฝากเช่นกัน เพราะคำว่า “เงินสด”ไม่ใช่ชื่อคน ธนาคารไม่อาจรู้ได้ว่าห้ามใคร และยังทำให้เช็คฉบับนี้เสียไปเลย เพราะจำนำไปเบิกเงินสดอย่างเช็คจ่ายผู้ถืออีกไม่ได้ )
“เข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น “ หรือ “ A/c Payee Only “ หมายความว่า เช็คฉบับนี้ไม่อาจโอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลัง การนำฝากเข้าบัญชีธนาคารก็ต้องนำฝากเข้าบัญชีของผู้ที่มีชื่อระบุไว้ที่ด้านหน้าเช็คเท่านั้น (การขีดคร่อมแบบนี้ห้ามนำไปใช้กับเช็คจ่ายผู้ถือที่ไม่ระบุชื่อผู้รับเงินหรือเช็คจ่ายผู้ถือทีเขียนคำว่า “ เงินสด” ไว้ที่ช่องว่าง “ จ่าย………………หรือผู้ถือ ” ถ้าขีดคร่อมเช็ค"จ่ายผู้ถือ" แบบนี้แล้วนำเช็คไปฝากเข้าบัญชีธนาคาร ธนาคารจะปฏิเสธการรับฝากทันที เพราะไม่มีชื่อตามบัญชีที่ด้านหน้าเช็ค หรือกรณีเขียนระบุ “เงินสด” ธนาคารจะปฏิเสธการรับฝากเช่นกัน เพราะคำว่า “เงินสด”ไม่ใช่ชื่อคน และยังทำให้เช็คฉบับนี้เสียไปเลย เพราะจะนำไปเบิกเงินสดอย่างเช็คจ่ายผู้ถืออีกไม่ได้ )
ถ้าขีดเส้นสองเส้นในแนวขนานไว้เฉย ๆ โดยไม่เขียนอะไร หมายความว่า เช็คฉบับนี้จะนำมาขอเบิกเงินสดไม่ได้ ต้องนำฝากเข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเช็ค “ จ่ายผู้ถือ “ หรือเช็ค “ จ่ายตามคำสั่ง “
2. เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คขีดคร่อมที่ระบุชื่อธนาคารไว้ด้วย การนำเช็คขีดคร่อมแบบนี้ฝากเข้าบัญชีธนาคาร จะต้องนำฝากเข้าบัญชีธนาคารที่ระบุชื่อขีดคร่อมไว้เท่านั้น
การขีดคร่อมเฉพาะ เช่น ขีดเส้นขนานตัดในแนวเฉียงบริเวณมุมบนซ้ายของเช็คแล้วเขียนชื่อธนาคารไว้ด้านในระหว่างเส้นสองเส้นนั้น เช่น เขียนคำว่า
"ธนาคารกรุงสยาม " หมายความว่า เช็คฉบับนี้จะนำฝากเข้าบัญชีธนาคารอื่นไม่ได้ ต้องนำฝากเข้าบัญชีของธนาคารกรุงสยามเท่านั้น สมารถใช้ได้กับเช็ค “ จ่ายผู้ถือ “ และเช็ค “จ่ายตามคำสั่ง “
เช็คที่ขีดคร่อม และเขียนข้อความ “ห้ามเปลี่ยนมือ “ และยังมีขีดคร่อมว่า “ธนาธารกรุงสยาม“ ไว้ด้วย หมายความว่า โอนเปลี่ยนมือให้คนอื่นไม่ได้ และต้องนำฝากเข้าบัญชีของธนาคาร กรุงสยาม เท่านั้น
เช็คเด้งต้องทำอย่างไร
๑.การดำเนินคดีทางแพ่ง
เจ้าหนี้ตามเช็คสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งเอากับบรรดาลูกหนี้ในเช็คนั้นได้ ซึ่งการฟ้องคดีแพ่งนี้เป็นวิธีการบังคับชำระหนี้ทางทรัพย์สินเอากับลูกหนี้ในเช็ค โดยต้องฟ้องร้องภายในกำหนดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่ลงในเช็ค ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งจ่าย ผู้สลักหลังหรือผู้ค้ำประกัน(อาวัล)เช็ค ก็ต้องรับผิดตามจำนวนเงินและเนื้อความที่ระบุในเช็คนั้นทั้งสิ้น
๒.การดำเนินคดีอาญา
เนื่องจากคดีเช็คเป็นคดีที่สามารถยอมความกันได้ มิใช่คดีร้ายแรง การดำเนินคดีอาญากฎหมายกำหนดให้กระทำได้ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ซึ่งกรณีที่จะเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจาการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้นจะต้องเป็นไปตาม พรบ.เช็คฯ มาตรา ๔ ที่บัญญัติว่า ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการก ระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
(๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ใ นขณะที่ออกเช็คนั้น
(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวน เงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้
(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
ข้อสำคัญของการออกเช็คที่เป็นความผิดอาญา ตามพรบ.เช็คฯ มาตรา ๔ นั้น ต้องเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คือ จะต้องเป็นหนี้กันจริงไม่ใช่หลอกๆ หรือ สั่งจ่ายเช็คเพื่อแลกเงินสด(ถือว่าสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้เป็นหนี้กัน) และหนี้นั้นก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่ผิดกฎหมายด้วย คือ ถ้าหนี้นั้นตามกฎหมายไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ เช่น หนี้ที่เกิดจากการพนัน หนี้ยาเสพติด หรือกู้เงินกันเกินสองพันบาทแต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้ประเภทนี้ ก็ไม่เป็นความผิดอาญาแต่อย่างใด เพราะเป็นหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย คงเป็นเฉพาะความผิดทางแพ่งเท่านั้น
๓.คดีเช็คนั้นหากไม่ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีภายในกำหนดอายุความ หากคดีขาดอายุความแล้ว หนี้ตาเช็คนั้นอาจจะเป็นสูญไปทันที
๔.ข้อต่อสู้ของจำเลยคดีเช็คว่าไม่เป็นความผิดอาญา เช่น
๑.) เรื่องอายุความ
๒.) เช็คไม่มีมูลหนี้
๓.) สั่งจ่ายเช็คเพื่อค้ำประกัน
๔.) เช็คไม่ลงวันที่
๕.) มูลหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
๖.) หนี้ระงับแล้ว ด้วยเหตุต่าง ๆ ตามกฎหมาย
๗.) อื่นๆ
๕.คดีเช็คนั้นถ้าผู้กระทำผิดชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายภายใน ๓๐ วันนับแต่ได้รับหนังสือบอกกล่าวว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คจากผู้ทรง (เจ้าหนี้เช็ค)หรือมูลหนี้ที่ได้มีการออกเช็คเพื่อจ่ายเงินนั้นได้ระงับไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีเช็คนั้นเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิอาญา
๖. พยานหลักฐาน เมื่อเช็คเด้งแล้วท่านต้องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานไว้ให้ครบถ้วน เพื่อดำเนินคดีต่อไปคือ เช็ค ,ใบคืนเช็ค, หลักฐานแห่งมูลหนี้ที่จ่ายเงินตามเช็ค เช่น สัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย ฯลฯ
สรุป เมื่อเช็คเด้งแล้วต้องรีบฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา หรือ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ท้องที่ๆธนาคารเจ้าของเช็คตั้งอยู่ในเขตภายใน ๓ เดือนนับแต่ธนาคารปฏิเสธ และ/หรือมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งภาย ใน ๑ ปี นับแต่วันที่ลงในเช็ค หากคดีเช็คขาดอายุความแล้วต้องพิจารณาหาช่องทางดำเนินคดีตามมูลหนี้เดิมที่มีการจ่ายเช็ค ภายในอายุความมูลหนี้นั้นๆ
เช็คเด้ง ใช่ว่าจะติดคุกเสมอไป !
เป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วๆไปครับว่าเช็คเด้ง ผู้ออกเช็คมักจะถูกฟ้องเป็นคดีอาญากันอยู่บ่อยๆ และถ้าจะดูๆไปคดีในศาลโดยเฉพาะศาลแขวงแล้วคดีเช็คนับว่าเป็นคดียอดนิยมเลยทีเดียว แต่จะมีชาวบ้านสักกี่คนที่จะทราบหลักกฎหมายเกี่ยวกับเช็คจริงๆว่า การออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็คนั้น สั่งจ่ายแบบไหนถึงจะมีความผิด แบบไหนไม่มีความผิดกันบ้าง ผมท้าได้เลยว่าร้อยละ 99.99 ไม่รู้ครับ และพอถูกฟ้องก็กลัวติดคุก ก็รีบหาเงินไปใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ก็เป็นที่ยอดนิยมเหมือนกันครับ คือการทวงหนี้ด้วยคดีเช็ค แม้ว่าในบางครั้งการออกเช็คของลูกหนี้ไม่มีความผิดอาญา แต่ก็ฟ้องไปก่อนเพื่อกดดันและร้อยละ 90 ได้ผลครับ เพราะไม่มีใครอยากเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง ลูกหนี้ก็ไม่อยากเสี่ยงถ้าผลของคดี 50/50 ก็ขอรับสารภาพและผ่อนจ่ายดีกว่า เพราะถ้าลุ้นผลคดีก็อาจติดคุกได้
วันนี้เราจะมาดูกันว่าออกเช็คอย่างไรถึงจะเป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯ นะครับ
- ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ และ
- หนี้นั้นต้องเป็นหนี้ที่มีอยู่จริง และ
- หนี้นั้นต้องบังคับได้ตามกฎหมาย และ
- ออกโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
การออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็คที่จะเป็นความผิดตามกฎหมาย (พรบ.เช็คฯ) ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบครบ 4 อย่าง (ตาม 1) ถึง 4) ดังกล่าวข้างต้นแล้วเช็คเด้งเท่านั้นครับ หากขาดองค์ประกอบไปอย่างใดอย่างหนึ่งแม้เพียงข้อเดียว การออกเช็คหรือสั่งจ่ายเช็คนั้นก็ไม่เป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯ เช่น หากเป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันไม่ว่าจะค้ำประกันเงินกู้หรือค้ำประกันหนี้ใดๆ ก็ไม่มีความผิดเพราะไม่ได้ออกเพื่อชำระหนี้ ถือว่าขาดองค์ประกอบตามข้อ 1) (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2547) หรือ ออกเช็คไว้ล่วงหน้าเผื่อว่าในอนาคตอาจเกิดหนี้ขึ้น แบบนี้ก็ไม่มีความผิดเพราะในขณะออกเช็คไม่มีหนี้ต่อกัน ถือว่าขาดองค์ประกอบตาม 2) (เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12007/2553) หรือ ออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกัน ก็ไม่มีความผิดเพราะหนี้เงินกู้ยืมที่ไม่ได้ทำสัญญากู้เงินก็ฟ้องเรียกเงินกู้ไม่ได้เมื่อฟ้องเรียกเงินกู้ไม่ได้ก็ถือว่าเป็นหนี้ที่บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย ถือว่าขาดองค์ประกอบตาม 3) (ฎีกาที่ 1414/2536) หรือ สั่งจ่ายเช็คโดยที่เจ้าหนี้ก็รู้ดีว่าในขณะออกเช็คบัญชีถูกปิดไปแล้วหรือขณะออกเช็คเจ้าหนี้รู้อยู่ว่าลูกหนี้ไม่สามารถใช้เงินตามเช็คได้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการออกเพื่อจะไม่ให้มีเจตนาที่จะใช้เงินตามเช็ค ก็ขาดองค์ประกอบตาม 4) (เทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556) เห็นมั๊ยล่ะครับว่าไม่ใช่ว่าการออกเช็คทุกกรณีจะเป็นความผิดตาม พรบ.เช็คฯเสมอไป กฎหมายเปิดช่องให้ตั้งมากมายที่จะไม่ต้องติดคุกเพราะคดีเช็ค
เมื่อไม่เป็นความผิดก็ไม่ติดคุกยังไงล่ะครับ ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องคดีมาก็ตั้งทนายสู้คดี ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง ส่วนหนี้ในทางแพ่งก็ว่ากันไปตามคดีแพ่ง แต่เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถใช้คดีอาญามาบีบเราได้อีกต่อไป (พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4)
บทความคดีมรดก
ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน รถยนต์ ห้องชุด สิทธิการเช่าซื้อ ทรัพย์สินต่าง ๆ เงินฝากในธนาคาร เป็นต้น
บทความคดีหมิ่นประมาณ
ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ